ข้อเท็จจริงการประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้านเวชปฏิบัติเสริมสวย
1. วิชาชีพเวชกรรมด้านเวชปฏิบัติเสริมสวยคืออะไร ?
เวชปฏิบัติเพื่อการเสริมสวย Aesthetic Practice หมายถึง การประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้านการผ่าตัดเพื่อการเสริมสวย (Cosmetic Surgery) และเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวย (Cosmetic Medicine) คือการเสริมสวยด้วยการใช้ยา, เวชสำอาง และเครื่องมือชนิดต่างๆ รวมทั้งการทรีทเมนต์ต่างๆ ทางด้านความงาม โดยอาศัยความรู้ในส่วนของการเสริมสร้าง มากกว่าการรักษาโรค ของแพทย์สหสาขาวิชาและสาขาวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาผสมผสานกัน เช่น ศัลยกรรมทั่วไป, ศัลยกรรมตกแต่ง, จักษุ, โสต ศอ นาสิก, ผิวหนัง, ศัลยกรรมแม็กซิลโลเฟเชียลทันตแพทย์, ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ, ศัลยกรรมออโธปิดิกส์, นรีเวช, อายุรกรรม, เวชศาสตร์ครอบครัว, เวชปฏิบัติทั่วไป, วิสัญญี, จิตเวชศาสตร์, ศิลปะวิทยา, นรลักษณ์ศาสตร์, เวชสำอาง, เครื่องสำอาง และการทรีทเมนต์ด้านความงาม รวมทั้งการใช้เครื่องมือต่างๆ ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เป็นต้น เกิดเป็นวิชาใหม่ที่มีการสร้างสรรค์ (Innovation Medicine) ตลอดเวลาอย่างรวดเร็วตรงกับความต้องการของพัฒนาการสังคมยุคใหม่
เวชปฏิบัติเสริมสวยเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าไม่ได้ถูกจัดหรือถือว่าเป็นเวชกรรมเฉพาะทาง (Specialty หรือ Subspecialty) แต่เป็นเวชปฏิบัติที่ทำเป็นเรื่องเฉพาะส่วน ไม่ได้เป็นระบบเดียว และแพทย์ทุกสาขาวิชาที่สนใจสามารถทำได้ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การฝึกอบรมแพทย์ด้านนี้ เป็นการฝึกอบรมกันเองจากแพทย์ผู้มีประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น หรือไปดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศเนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานราชการ, สถาบันทางการแพทย์, สมาคม หรือแพทยสภา จัดการฝึกอบรมแพทย์เวชปฏิบัติเสริมสวยอย่างเป็นระบบ
เราเรียกแพทย์ ไม่ว่าสาขาใดๆก็ตามที่ทำงานด้านนี้ว่า แพทย์เวชปฏิบัติเสริมสวย (Aesthetic Physician)
2. การประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้านเวชปฏิบัติเสริมสวยในปัจจุบันและการฝึกอบรมที่ผ่านมา
เวชปฏิบัติเสริมสวยเป็นการประกอบวิชาชีพผสมผสานทั้งการผ่าตัด การดูแลผิวพรรณ และการดูแลสุขภาพโดยองค์รวม ให้สวยทั้งจากภายนอกและภายใน ด้วยกรรมวิธีต่างๆ รวมทั้งการใช้เครื่องมือและเลเซอร์ชนิดต่างๆในการทำให้ผู้รับการรักษาที่ไม่ได้เจ็บป่วย ให้ดูดีขึ้น, งามขึ้นได้, อ่อนวัยขึ้นได้ ซึ่งเป็นความต้องการของสังคมยุคใหม่ เป็นสิ่งที่นอกเหนือจากปัจจัย4 หลักเดิม เพราะผู้คนในปัจจุบันมีสุขภาพดีขึ้น, อายุยืนขึ้นด้วยความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ และการแข่งขันในสังคมสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างโอกาสให้ตนเองเพื่อให้บุคลิกภาพดูดีขึ้น ทำให้เวชปฏิบัติเสริมสวยเป็นที่นิยมทั่วโลก
การประกอบวิชาชีพด้านนี้ ส่วนใหญ่สามารถทำหัตถการได้ที่คลินิกเพราะเป็นหัตถการที่ไม่ Invasive มาก หรือ selective moderate invasive สามารถทำได้ด้วยทั้งยาชาเฉพาะที่หรือฉีดระงับความรู้สึกหรือดมยาสลบ
เนื่องจากมีแพทย์ที่สนใจประกอบวิชาชีพด้านนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการรับรองวิชาเวชปฏิบัติเพื่อการเสริมสวยอย่างเป็นทางการ ทั้งทางภาคราชการและแพทยสภา ดังนั้นแพทย์ทุกสาขาที่สนใจจึงต้องขวนขวายหาความรู้เอง จากแพทย์ผู้มีประสบการณ์ซึ่งทำมาก่อน ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ แต่ยังไม่มีการทำหลักสูตรเพื่อขอการรับรองจากแพทยสภา ทำให้มาตรฐานการให้การรักษาแตกต่างกันมาก บางครั้งเกิดมีปัญหาภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์และปัญหาสังคมตามมา แม้แต่คดีฆาตกรรมคนไข้ก็เคยเกิดมาแล้ว การเพิ่มขึ้นของประชาชนผู้มารับบริการด้านเวชปฏิบัติเสริมสวย ด้วยอัตราเพิ่มทวีคูณ แต่การเพิ่มของแพทย์ในด้านนี้ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ประเทศเสียโอกาสในการแข่งขัน เรื่องการทำเวชปฏิบัติเสริมสวยกับประเทศอื่นๆซึ่งขณะนี้หลายประเทศได้พัฒนางานด้านนี้ไปไกลแล้ว เช่น ประเทศเกาหลี งานด้านเวชปฏิบัติเพื่อการเสริมสวยกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักที่นำรายได้เข้าประเทศ แต่ของประเทศไทยเรายังไปไม่ถึงไหน แม้แต่ประเทศเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ก็กำลังกระตือรือร้นพัฒนาแพทย์ทางด้านนี้
ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ม.4 แพทย์ทุกคนมีสิทธิประกอบวิชาชีพด้านเสริมสวยได้ตามที่ระบุไว้อย่างถูกต้อง และการประกอบวิชาชีพเวชกรรมด้านเวชปฏิบัติเสริมสวย ก็ไม่มีราชวิทยาลัยใดเป็นเจ้าของ เป็นของแพทย์ทุกท่าน เมื่อเกิดปัญหาในการทำเวชปฏิบัติด้านนี้ขึ้นมาไม่ควรใช้ผู้เชี่ยวชาญ (รักษาโรค) สาขาใดๆ จะมาให้ความเห็นได้ตรงนอกจากผู้ที่มีประสบการณ์ตรงในงานด้านนี้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ศาลยุติธรรมก็ได้มีการรับพยานผู้เชี่ยวชาญในด้านการเสริมสวยโดยแพทย์เวชปฏิบัติเสริมสวย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาหลักสูตร เพื่อขอการรับรองจากแพทยสภาให้เป็นมาตรฐาน
3. เวชปฏิบัติเสริมสวยในงาน Medical Hub ของรัฐบาล
จากนโยบายของรัฐบาล ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านบริการสุขภาพของเอเชียหรือของโลก (Medical Hub) ซึ่งประกอบด้วย
1. งานการรักษา การดูแลสุขภาพ เช่น การรักษาการเจ็บไข้ได้ป่วย การตรวจสุขภาพ เป็นต้น
2. งานการส่งเสริมสุขภาพ (Wellness) เช่น Spa, Massage เป็นต้น
3. งานการเสริมสร้างสุขภาพ บุคลิกภาพ และนรลักษณ์ เช่น เวชปฏิบัติเสริมสวย เป็นต้น
4. งานการดูแลผู้สูงอายุ
ในส่วนงานการเสริมสร้างสุขภาพเวชปฏิบัติเสริมสวย การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ยังไม่ชัดเจน เพราะองค์กรที่รับผิดชอบยังมีความสับสนในเรื่องเวชปฏิบัติเสริมสวย และแพทย์ที่จะสามารถทำงานในด้านนี้ได้ เวชปฏิบัติเสริมสวยเป็นของแพทย์สหสาขาวิชา เป็นวิชาที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นการผสมผสานของสหสาขาวิชาต่างๆดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ไม่ได้มีการลอกเลียนแบบสาขาใดสาขาหนึ่งโดยเฉพาะ และยังไม่มีการฝึกอบรมหรือมีหลักเกณฑ์อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นแพทย์ที่จะทำงานด้านนี้ไม่ว่าจะจบการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาใดควรจะต้องมีการฝึกอบรมเวชปฏิบัติเสริมสวยเพิ่มเติมทุกคนเพราะมีหลายเรื่องที่ไม่มีอยู่ในหลักสูตรการอบรมแพทย์เฉพาะทาง และจะเป็นการสร้างมาตรฐานของเวชปฏิบัติเสริมสวยของประเทศไทยด้วย
เวชปฏิบัติเสริมสวยเป็นเวชปฏิบัติที่อยู่ในทุกส่วนทั้งภาคเอกชน, ภาครัฐ มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงมีการอ้างหาทางผูกขาดงานด้านนี้ให้อยู่เพียงเฉพาะกลุ่ม จึงทำให้เกิดความขัดแย้งและแตกสามัคคีในหมู่แพทย์ขึ้น มีการออกข่าวโจมตีให้ร้ายต่อกัน จึงเป็นช่องทางให้บุคคลที่ไม่ใช่แพทย์เข้ามาหาผลประโยชน์ทำให้งานด้านนี้ไม่มีการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างที่ควรเป็น งานด้านเวชปฏิบัติเพื่อการเสริมสวยในประเทศไทยจึงล้าหลังกว่าประเทศอื่น ประเทศเสียโอกาสในการแข่งขัน เสียโอกาสในทางเศรษฐกิจจากเม็ดเงินจำนวนมหาศาลแทนที่จะไหลเข้าสู่ประเทศ แต่กลับไหลออก
4. ข้อดีของการรับรองวิชาชีพและแพทย์เวชปฏิบัติเสริมสวย ในระบบสาธารณสุขของประเทศ
4.1 เกี่ยวกับการกระจายแพทย์ทั่วประเทศดังได้กล่าวมาแล้วเวชปฏิบัติเสริมสวยถือว่าเป็นทรัพยากรส่วนกลาง สามารถเป็นเวชปฏิบัติรองของแพทย์ทุกสาขาวิชาชีพ สามารถสนับสนุนเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจของแพทย์ได้ ไม่ว่าแพทย์จะทำงาน ณ ที่แห่งใดในประเทศ ในปัจจุบันมีแพทย์จบใหม่ ปีละเกือบ 3,000 คน ต้องมีงานที่มีความมั่นคง เพื่อรองรับแพทย์เหล่านี้ แพทย์ก็เป็นวิชาชีพหนึ่ง ที่ต้องอาศัยวิชาชีพเพื่อความมั่นคงของชีวิต แพทย์ส่วนมากเมื่อเรียนจบ จะเลือกเรียนเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่ตนเองชอบ ทุกคนต้องการอยู่ในเมืองใหญ่ๆ มีความพร้อมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือและเศรษฐกิจที่ดีกว่า ทำให้ตนเองมีฐานะมั่นคง แต่ในความเป็นจริง แพทย์ส่วนใหญ่ต้องกระจายไปสู่ชนบททำให้ความมั่นคงของชีวิตลดลง เพราะฉะนั้นแพทย์บางส่วนก็ลาออกเพื่อหาสิ่งที่มั่นคงกว่า แต่ถ้าแพทย์สามารถมีเวชปฏิบัติรองและสามารถสร้างความมั่นคงของชีวิตได้พอสมควร คิดว่าทุกคนพร้อมอยู่ที่ไหนก็ได้ ได้ทำงานช่วยเหลือราชการ ทำงานที่ตนเองชอบ และมีรายได้เสริมที่ทำให้ตนเองสามารถดำรงสภาพในสังคมได้อย่างเหมาะสม
4.2 สามารถใช้พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยใช้เวชปฏิบัติเสริมสวยเป็นตัวนำ
4.3 ทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย เนื่องจากจะทำให้แพทย์ด้านเวชปฏิบัติเสริมสวยมีมาตรฐานเดียวกัน
4.4 ทำให้ก่อเกิดความสามัคคีในวงการแพทย์ ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง แย่งชิงผลประโยชน์ เมื่อสามารถจัดการทรัพยากรส่วนกลางเรื่องเวชปฏิบัติเสริมสวยลงตัว
ผมเชื่อว่าเวชปฏิบัติเสริมสวย จะเป็นส่วนช่วยที่ทำให้แพทย์อยู่ในระบบราชการมากขึ้น ผมเองเคยเป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขมาก่อน ทราบดีในข้อนี้ แต่ทุกคนไม่พูดข้อเท็จจริง ไม่อยากรับรู้ความจริงในส่วนนี้ องค์กรที่รับผิดชอบต่างไม่มีใครกล้าตัดสินใจ เพราะกลัวการต่อต้านจากแพทย์บางกลุ่ม ที่ยังไม่เข้าใจ และกลุ่มที่เสียผลประโยชน์
การทำสิ่งใหม่ทุกๆครั้งจะต้องมีการต่อต้านและไม่เข้าใจ ซึ่งต้องอาศัยความกล้าหาญและความมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร จึงจะสามารถทำสิ่งดีๆใหม่ๆให้เกิดขึ้นได้ ตัวอย่างในอดีต การสร้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้รับการต่อต้านจากราชวงศ์ชั้นสูงบางพระองค์ โดยเกรงว่าจะทำให้พระบารมีของพระมหากษัตริย์เสื่อมถอยลง แต่ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้กำเนิดขึ้น หรือการกำเนิดของวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นวิทยาลัยแพทย์ทหาร ก็ได้รับการต่อต้านจากวิทยาลัยแพทย์พลเรือน แต่เนื่องด้วย พระบารมีปกเกล้าของพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าจึงได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งได้พิสูจน์ถึงพระอัจฉริยภาพของสองพระองค์ท่าน ว่าเป็นสิ่งถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆอย่างการสร้างรถไฟลอยฟ้า หรือรถไฟใต้ดินขนส่งมวลชน ซึ่งแรกก็มีแต่เสียงต่อต้านคัดค้าน จนบัดนี้ทุกคนก็ได้ใช้ประโยชน์และเห็นประโยชน์แล้วทั้งสิ้น